ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมของอำเภอท่าตูม


๑.ศาสนา
              จากประวัติศาสตร์ของจากจังหวัดสุรินทร์ พบว่า มีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ ๓ กลุ่ม ได้แก่ เขมร ลาว และส่วย ซึ่งต่างก็มีศาสนาและลัทธิความเชื่อของตนมาก่อนแล้ว  กล่าวคือ กลุ่มที่พูดภาษาลาว  และส่วยมีความนับถือ ในศาสนาธรรมชาติ เช่นต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ผีสาง เทวดา และสิ่งเร้นลับทางธรรมชาติต่อมาได้หันมายอมรับ
และปฏิบัติตามแบบแผนของศาสนาพุทธ แต่ก็มิได้ละทิ้งความเชื่อดั้งเดิมทั้งหมด มีการประสมประสานระหว่าง ความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ ให้มีความกลมกลืนกับความเป็นอยู่และถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับกลุ่มคนเขมรนั้น เดิมมีความนับถือภูตผีเช่นเดียวกัน และได้มีการผสมผสานวัฒนธรรมกับพวกพราหมณ์ ตามผู้ปกครองดินแดนในสมัยนั้น ต่อมาได้รับเอาศาสนาพุทธเข้ามาปฏิบัติ  ปัจจุบันพบว่าวิถีชีวิตของคนเขมร มีพิธีกรรมและความเชื่อทั้งสามส่วนผสมผสานกันอยู่ เช่น ของขลัง ผี เทวดา เวทย์มนต์ คาถา แต่ "ศาสนาพุทธ" นับว่ามีอิทธิผลต่อวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้มากกว่าศาสนาอื่น


ที่มา: สำนักงานศึกษาธิการอำเภอท่าตูม


๒. ประเพณีและวัฒนธรรม อำเภอท่าตูม
              เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ที่มีวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม ี่ยึดถือปฏิบัติมาช้านานซึ่งมีหลายประเพณีที่มีความคล้ายคลึงกับที่อื่นๆ หากวิธีการปฏิบัติบางครั้งอาจ
ไม่เหมือนกัน หรือมีความแตกต่างกันในบางอย่าง แต่ประเพณีต่างๆ เหล่านั้นก็ยังเป็นประเพณีที่ถือได้ว่า  มีความสำคัญ เป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตตอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นอย่างยิ่ง กรณีที่มีความเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน ที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองให้คนในหมู่บ้าน เกิดความร่มเย็น ปราศจากอันตราย จึงได้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในวันสำคัญของประชาชนในเขตอำเภอท่าตูม เช่น ผีปู่ตา ผีปู่ตา หรือ ผีตาปู่ เป็นดางวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วที่คอยปกป้องคุ้มครอง ให้คนในหมู่บ้าน มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ดังนั้น ผีปู่ตาจึงเปรียบเสมือนที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน เมื่อได้รับ ความเดือดร้อน เช่น เจ็บป่วย พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่อุดมสมบูรณ์ หรือทำมาค้าขายไม่ได้ดี ก็จะไป (บนบาน) เพื่อวิงวอนให้ให้เจ้าปู่ช่วยดลบันดาลให้ประสบตามความปรารถนา เมื่อได้ในสิ่งที่ปรารถนาแล้ว ผู้บนบานก็จะนำ อาหารคาวหวานมาแก้บน ด้วยเหตุนี้เอง ผีปู่ตา จึงเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ผูกพันกับการดำเนินชีวิต
ของชาวอีสานโดยเฉพาะชาวอำเภอท่าตูม มาโดยตลอด ผีปู่ตา ยังเป็นแหล่งรวมจิตใจของผู้คนในชุมชน ไม่แบ่งแยกฐานะคนในสังคมว่า เป็นคนรวยหรือคนจนก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชนได้ ในแต่ละหมู่บ้าน
จะสร้างศาลปู่ตา หรือเรียกว่า "ตูบปู่ตา" ไว้ประจำหมู่บ้านการสร้างศาลปู่ตามักจะสร้างบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน หรือบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ พิธีกรรมการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับดวงวิญญาณ จะกระทำเป็นประจำ
ทุกปีเรียกว่า "การเลี้ยงผีปู่ตา" โดยทั่วไปมักจะกำหนดข้างขึ้นเดือนหก ก่อนฤดูกาลทำนา ก่อนถึงวันพิธี ชาวบ้านจะไปช่วยกันถากถางทำความสะอาดบริเวณตูบปู่ตา สำหรับผู้ที่จะไปไหว้ จะต้องนำเครื่องเซ่นไว้ เช่น อาหารคาวหวาน ไก่ เหล้า ไปถวายปู่ตาพร้อมกับคนอื่น ๆ เมื่อได้เวลาอันสมควรหมอจ้ำ (ตัวกลางผู้ทำพิธี) จะจัดเตรียมเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ถาด เสื่อ มีดดาบ ของ้าว เสื้อคลุม ไว้ในที่เหมาะสม การเริ่มพิธีบูชาเจ้าปู่ ชาวบ้านจะนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชา เจ้าปู่พร้อมทั้งกล่าวความ สรุปได้ว่า "ประชาชนทุกคนในที่นี้เป็นลูกบ้าน
ที่เปรียบเสมือนเป็นลูกหลานของเจ้าปู่ ได้พร้อมใจกันนำเครื่องเซ่นไว้มาถวายเจ้าปู่ ขอได้โปรดให้เจ้าปู่รับของถวาย
ของเหล่านี้ด้วย พร้อมทั้งขอให้ลูกหลานในที่นี้ได้มีโอกาสชื่นชมบารมีอภินิหารของเจ้าปู่ ขอให้เจ้าปู่เข้าซูน (เข้าร่าง) หมอจ้ำ"เมื่อเจ้าปู่เข้าซูมแล้วหมอจ้ำจะเดินพูดคุยกับชาวบ้านด้วยเรื่องราวต่างๆ นาๆ ตามแต่ชาวบ้านจะซักถาม เช่นเรื่องเจ็บป่วยต่าง ๆ ของหาย ฟ้าฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ ตลอดจนการกลับมาของญาติที่จากไปนาน จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสที่มนุษย์ได้ติดต่อกับดวงวิญญาณ จาการพิจารณาอากัปกริยาของหมอจ้ำ" การจรรโลงไว้ซึ่งจารีตประเพณีของท้องถิ่นอันเนื่องด้วยพิธีกรรมต่างๆ อย่างมั่นคง คนทั่วไปอาจมองเห็นว่า
ทางด้านความเชื่อ วิถีชีวิตขอองชาวอีสานได้เปลี่ยนแปลงไปจนแทบจะไม้เหลือร่องรอยวัฒนธรรมที่ดีงาม เหมือนในอดีตก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวอีสานยังมีจิตใจสำนึกในการประพฤติปฏิบัติตามฮีต ((จารีต) สืบต่อกันมา ถึงแม้ว่าในการจัดพิธีกรรมต่างๆ จะต้องปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางวังคม เศรษฐกิจ และเวลาให้สอดคล้องกันเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน แต่สังคมชนบทอย่างอำเภอท่าตูม
ยังสือบทอดมาจากพรรพบุรุษอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจบันอย่างไม่มีวันที่จะเสื่อมคลาย


ประเพณีเซ่นผีปะกำ ส่วย กวย หรือกูย         
เป็นชื่อเรียกของชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นชนชาติมาแล้วในอดีต มีภูมิลำเนาและอาณาเขตการปกครอง
ของตนเองเหมือนชาติอื่น ๆ มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนให้ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แคว้น อัตปือแสนแป ต่อมาได้เดินทางอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ของประเทศไทยอละแยกย้านกันไปตั้งหลักแล่งในจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดอุบลราธานี ศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย ๑๕๗ ครอบครัว ชาวบ้านส่วนใหญ่คือ ชาวกวย เลี้ยงช้างที่ปฏิบัติสืบทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีช้าง
จำนวนมากว่าหมู่บ้านอื่น มีช้างประมาณ ๕๐ เชือก ทางราชการจึงกำหนดให้บ้านตากลาง
เป็นหมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักแก่บุคคลโดยทั่วไปที่ได้ชม ประเพณีแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านตากลางได้ร่วมกันนำช้างของตนเข้าร่วมแสดงเป็นประจำทุกปี ชนชาวส่วยและการแต่งกาย ชนชาวส่วยหรือกูย มีความยึดมั่น และเคร่งครัดในประเพณีเป็นอย่างมาก มีความเชื่อเรื่องของผีสางเทวดา ไม่ลบหลู่สิ่งที่ตนเองเคารพบูชา ซึ่งในแต่ละครอบครัวจะมีผีซึ่งตนเองเคารพอยู่ประจำ ที่เราเรียกว่า "ผีปะกำ" ลักษณะความเป็นอยู่ของชนชาวส่วย โดยส่วนมากแล้วจะชอบอยู่เป็นกลุ่มโดยเฉพาะลูกหลานที่แต่งงานแล้ว
จะแยกครอบครัวออกจากครอบครัวใหญ่ พ่อ - แม่ ก็จะสร้างบ้านในที่ติดกันกับบ้านหลังเดิม หรือไม่ก็ต่อชานเรือน
ให้ลูกอยู่ จึงดูเป็นครอบครัวใหญ่ การประกอบอาชีพ ในอดีตชาวส่วยมีอาชีพสำคัญคือ การคล้องช้างป่ามาฝึก
เพื่อขาย หรือนำช้างไปใช้งาน แต่ในปัจจุบัน อาชีพดังกล่าว ไม่มีอีกแล้ว แต่มีการฝึกช้างไปใช้ในการแสดง หรือการท่องเที่ยวมากกว่า และอาชีพที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาชีพทำนา และในเวลาที่ว่างจากการเก็บเกี่ยว ชาวส่วยจะนำช้างออกไปเร่ขายสินค้าที่ทำมาจากงาช้าง หรือขนหางช้าง เช่น แหวนงาช้าง กำไลงาช้าง น้ำมันช้าที่ผ่านการปลุกเสกพระงาช้าง เป็นต้น ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับชาวส่วยพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ การเซ่นผีปะกำ จะกระทำก็ต่อเมื่อมีการไปคล้อง้าง พิธีแต่งงาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่คนในครอบครัวจัดให้มีขึ้น เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้เซ่นผีปะกำของตนเองแล้ว จะมักให้มีอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ถ้าได้เซ่นผีปะกำถูกต้องตามประเพณีแล้ว จะทำให้ชีวิตมีแต่ความสงบสุข และการกิจกรรมดังกล่าว
จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
              การประกอบพิธีเซ่นผีปะกำ
ก่อนที่จะกระทำสิ่งไดก็ตาม เช่น การออกไปคล้องช้าง หรือการแต่งงาน จะต้องเซ่นผีปะกำก่อน อุปกรณ์ที่ใช้ในการเซ่นผีปะกำ
              ๑.หัวหมู ๑ หัว พร้อมกับเครื่องในหมูทุกชนิด
              ๒.ไก่ต้มสุก ๑ ตัว
              ๓.เหล้าขาว ๑ ขวด
              ๔.กรวยใบตอง ๕ กรวย มีดอกไม้เสียบในกรวย
              ๕.เทียน ๑ คู่ ธูป ๓ ดอก
              ๖.หมาก ๒ คำ
              ๗.บุหรี่ ๒ มวน
              ๘.ข้าวสวย ๑ จาน
              ๙.แกง ๑ ถ้วย
              ๑๐.ขมิ้นผง
              ๑๑.น้ำเปล่า ๑ ขัน
              ๑๒.ด้ายผูกแขน


ประเพณีโดนตา       
เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญที่ปฏิบัติทอดกัน มาอย่างช้านานของขนเผ่าเขมรเป็นการแสดงออก
ถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นถึงความรักความกตัญญูของสมาชิกในครอบครัว โดนตา หมายถึง การทำบุญให้ยาย และตา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลัยไปแล้ว ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐ ชาวเขมรถือว่า
เป็นวันรวมญาติซึ่งทุกคนจะไปรวมกัน ณ บ้านที่จุดศูนย์กลางของครอบครัวโดยเฉพาะ บ้านของผู้ที่อาวุโส
ที่สุดของครอบครัว ผู้ที่จะมาต้องเตรียมของเซ่นไหว้ เช่น ไก่ เนื้อ หมู ปลา ข้าวสาร ข้าวสวย กล้วย ผลไม้ ขนม กระยาสารท และข้าวต้มหางยาว ใส่กะเชอโดนตาเพื่อมาไหว้บรรพบุรุษของตนซึ่งส่วนใหญ่ จะประกอบพิธี
ในช่วงบ่ายหรือตอนเย็น เริ่มจากผู้อาวุโสในครอบครัวทำพิธีเซ่นโดยกล่าวดังนี้ เครื่องเซ่นไหว้
              "นะโมเมนะมัสการ อัญจัญตีวดา นองสถานทินิแนะสถานตีปะเสง ๆ               เออะตองมะเหสะสะเมืองแดนสะเตือลเนิวนองสถานตีวนิแนะสถานตีปะเสง ๆ
              ออยตองขมอยมีบาโดนตา ไถงนิ ไถงก็เจีย เวลีย์ก็เบอขยมซมอัญจืญโจลโมรับเกรืองโฮบ
              ปซา กะนองเวลียนิปรอม ๆ คเนีย โฮบปซากระยาบูเจียกะนองเวลียนิออปรวม ๆ คเนีย               (แล้วรดน้ำอัญเชิญพร้อมกล่าวว่า ) แม เอิว แยย ตา โมดอลเหย ออยเลียงใดเลียงจึงโมโฮบปซา               แดลโกนเจารีบตะตูล เมียนสรา นมเนกเจกอันซอม กรุบกรึงเหยนา อัญจือโมโฮบปซาออยบอมโบร "               (รออีกระยะประมาณ ๓-๔ นาที ก็รินน้ำ เหล้า น้ำส้ม โดยรินให้ครบ ๓ ครั้ง)
       ในช่วงเย็นก็จะนำกะเชอโดนตาไปวัดและค้างคืนที่วัดพอถึงเวลาประมาณตีห้าครึ่งจึงนำกระเชอไปเทที่หน้าวัด
เพื่อทำทานให้ผีไม่มีญาติ สำหรับผู้ที่อยู่ทางบ้านจะเตรียม "บายบัดตะโบร" หมายถึง กระทงใส่ก้อนข้าวสุกจำนวน ๔๙ ก้อน (เนื่องจากเชื่อว่านางวิสาขาปั้นอาหารมาถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ฉันเพียง ๔๙ เม็ด เท่านั้น) เพื่อนำไปถวายพระในตอนเช้า เสร็จพิธีแล้วจะนำบายบัดตะโบรไปใส่ไร่นา เพื่อให้เกิดความสิริมงคลข้าวปลาในไร่นาจะได้อุดมสมบูรณ์ต่อไป


ประเพณีแซนแซร์

              ประเพณีแซนแซร์ เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการทำนา ก่อนที่จะลงมือทำนาในฤดูฝนแล้ว ชนชาวส่วยจะทำพิธีที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ แซนแซร์ "แซน" แปลว่า เซ่น "แซร์" แปลว่า นา หรือ ที่นา การประกอบอาชีพทำนาของชนชาวส่วย จะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ เนื่องจากการทำนาจะทำได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง ดังนั การทำนาของชาวส่วย จึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พิธีกรรมที่สำคัญคือการแซนแซร์การแซนแซร์ จะกระทำอยู่ ๓ ขั้นตอน คือ ๑ ทำก่อนลงมือปักดำ เรียกว่า " แองัย " (เอาวัน) "แองัย" เป็นการกำหนดวันที่จะลงมือปักดา หรือไถนาดะ โดยจะนำ เครื่องเซ่นไหว้ไปบอกเจ้าที่นาก่อน
เพื่อให้เจ้าที่ได้รับทราบว่าจะลงมือปักดำแล้ว ๒ ทำหลักเสร็จสิ้นการปักดำ เป็นการบอกเจ้าที่ให้ช่วยดูแลต้นข้าว ให้เจริญงอกงาม ให้ได้ผลผลิตมาก ๆ ๓ ทำหลักการเก็บเกี่ยว เป็นการบอกขอบคุณเจ้าที่นา ที่ช่วยให้การทำนา
ในครั้งนี้ได้ผลดี วัน เวลา ปฏิบัติในฤดูการทำนา และจะทำพิธีในตอนเช้า
              อุปกรณ์ที่ใช้ในการแซนแซร์
                        ๑. ข้าวสุก ๑ จาน
                        ๒. ไก่ต้ม ๑ ตัว
                        ๓. ข้าวต้มมัด ๔ มัด
                        ๔. กล้วยสุก ๔ ผล วาง ๔ มุม
                        ๕. ก้อนดิน ๑ ก้อน
                        ๖. มัดกล้า ๑ มัด
                        ๗. เหล้าขาว และน้ำอัดลมอย่างละ ๑ ขวด
                        ๘. น้ำเปล่า ๑ ขัน น้ำขมิ้น
                        ๙. ผ้ายชุบขมิ้น ( เอาเรียกขวัญนาเจ้าของนา)
                        ๑๐ ธูป เทียน
                        ๑๑. ไม้ไผ่ ( ทำเป็นทีปักข้าวตอก )เป็นสัญลักษณ์ดอกข้าว
                       ๑๒. ทำร้านโดยใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ ( ทำเป็น ๔ มุม เสา ๔ ต้น )
คำที่ใช้เรียกขวัญข้าว               เป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน คือภาษาส่วย กล่าวดังนี้
"เจาเยอ อะเวียซอ แอเวียซอดัวะ บิออนจิเนียเจาเนีย มอแนะ ออนบึนซอดาล ๆ
              ผู้ที่ปฏิบัติในการแซนแซร์
                        ๑ เป็นเจ้าของนา        
                        ๒ คนแก่คนเฒ่า         
                        ๓ คนอื่น ๆ ที่เจ้าของนามอบหมาย
              การถือปฏิบัติ
                        จะปฏิบัติทุกครั้งในฤดูทำนา เพราะถ้าไม่ปฏิบัติ จะทำให้เจ้าของนา หรือลูกหลานเจ็บไข้ หรือป่วยได้
              เจาเยอ           แปลว่า มาเด้อมา (เป็นคำเรียกหา)
              อะเวียยซอ       แปลว่า ขวัญข้าว
              แอ                 แปลว่า เอา
              บิออนจิเนีย      แปลว่า ไม่ให้ไปไหน
              ดัวะ               แปลว่า ไว้ เก็บไว้
              มอแนะ           แปลว่า ปีนี้
              ออนบืนดาล     แปลว่า ให้ได้มก ให้ได้เยอะ ๆ


ประเพณีแข่งเรือ               
อำเภอท่าตูมเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำมูลมากกว่า ๑๐๐ ปี เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์
เป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญในการคมนาคม ทางน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ จึงทำให้มี ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมา ชาวท่าตูมมีความผูกผันกับแม่น้ำมูล
มาโดยตลอดเป็นเวลาช้านาน โดยอาศัยแม่น้ำมูลเป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคและบริโภคเพื่อการเกษตร การคมนาคม ดังนั้นในทุกปีชาวท่าตูมจะได้รำลึกถึงพระคุณของแม่น้ำมูล โดยร่วมกันฉลองหลังฤดูเก็บเกี่ยว ทุกหมู่บ้าน
ริมแม่น้ำมูลได้ร่วมกันนำขบวนเรือยาวมาทอดกฐินร่วมกัน และนำเรือยาวมาร่วมแข่งขันกัน เพื่อความสนุกสนาน
รื่นเริงและความสามัคคีของชาวท่าตูม และได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวสืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน ปัจจุบันชาวท่าตูม
ได้จัดแข่งขันเรือยาวแระเพณีเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีให้คงสืบต่อไป โดยจัดแข่งขันประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี ณ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล และเปิดโอกาสให้เรือยาว
และกองเชียร์จากอำเภอท่าตูม ต่างจังหวัดมาร่วมแข็งขัน ชิงชัยเป็นจำนวนมาก แบ่งประเภทการแข่งขัน ดังนี้               ๑.ประเภทเรือยาว ๓๖ ฝีพายขึ้นไป
              ๒.ประเภทเรือยาว ๓๕ ฝีพายลงมา
              ๓.ประเภทกองเชียร์ การรำมู้ดมัด


การรำมู้ดมัด
              เป็นประเพณีเก่าแก่อย่างหนึ่งของชนชาวส่วยที่เลี้ยงช้าง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ การรำมู้ดมัดจัดได้ว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง เพราะชนกลุ่มน้ามีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรม
ที่รักษาความเจ็บป่วยได้ความเชื่อเช่นี้เองทำให้ชนชาวส่วยสืบทอดประเพณีอันดีงามนี้ได้จากในอดีตที่ยาวนาน
จนถึงปัจจุบันนี้ การรำมู้ดมัดจะจัดให้มีขึ้นก็ต่อเมื่อมีสมาชิกในบ้านเกิดเจ็บป่าย เพราะพวกเขามีความเชื่อว่า
อาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นเนื่องจาก "ขวัญ"ที่อยู่กับตัวหรือร่างกายออกจากร่าง การไปอยู่ที่อื่นไม่ยอมกลับมาอยู่
กับร่างกายเช่น ปกติ จึงทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น ดังนั้นการรักษาก็ต้องทำให้ขวัญนั้นกลับคืนมาอยู่กับร่าง
เหมือนเดิม เมื่อขวัญกลับเข้ามาอยู่กับร่างแล้วอาการป่วยที่เกิดขึ้นจะหายเป็นปกติ ก่อนที่จะมีพิธีกรรมการรำมู้ดมัด
ในแต่ละครั้ง ต้องมีการจัดเตรียมเครื่องเซ่น เครื่องสังเวยหลายอย่าง เช่น บายศรี ขนมชนิดต่าง ๆ อาหารคาวหวาน ข้าวต้มมัด ผลไม้ เสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าขาวม้า เครื่องแต่งตัว ของเซ่นต่างๆ เช่นรูปนก รูปปลาเป็นต้น พิธีจะเริ่มในตอนเย็น หลังจากทานอาหารเสร็จก็จะเริ่มพิธีประกอบด้วย แม่ครู ทำหน้าที่ในพิธีเข้าทรงและมีผู้ร่วมรำ อีกจำนวนหนึ่ง
กี่คนก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธี เช่น กลอง ปี่พาทย์ และอื่น ๆ เพื่อบรรเลงให้เกิดความเร้าใจ ความสนุกสนาน ทั้งผู้ประกอบพิธีและผู้มาชมการประกอบพิธี ผู้ทรงจำทำหน้าที่สื่อความหมายระหว่างขวัญ วิญญาณและภูตผีอื่น ๆ เพื่อช่วยนำขวัญกลับมาสู่ร่าง เมื่อขวัญกลับสู่ร่างเรียบร้อยแล้วก็เป็นอันว่าสิ้นสุดพิธีกรรมนี้