อำเภอท่าตูม


ประวัติ
      อำเภอท่าตูม
 ชุมชนอำเภอท่าตูม เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิม ตั้งแต่ปลายสมัยเจนละ (ยุคศตวรรษที่ ๑๒ -๑๓ ) ที่มีการปกครองที่ อิสานปุระ (สุรินทร์) เมื่อรัฐสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ประกาศลัทธิเทวราชา และสถาปนา อาณาจักรอังกอร์ ได้มีการแผ่ขยายการปกครองออกไปอย่างกว้างขวาง จากการนับถือเทวนิยมดังกล่าว จะมีการสร้าง เทวสถาน ในการประกอบพิธี และปราสาทที่พำนักของผู้แสวงบุญทั่วไปในการไปมาหาสู่ระหว่างเมืองสำคัญต่างๆ ในสมัยนั้นจะติดต่อกันทั้งในทางบก และทางน้ำซึ่งเป็นไปในรูปแบบของการส่งส่วย ส่งเครื่องราชบรรณาการ ปารแลกเปลี่ยนผลิตผลการค้าขาย ตลอดจนการยกองทัพไปรบ การติดต่อระหว่างเมืองในแดนอิสานตอนล่าง จึงเป็นทางเรือเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในการล่องเรือดังกล่าวตามแม่น้ำนั้นจะมีการติดต่อทางด้านนครจำปาสัก ปากเซ และฝั่งแม่น้ำโขง (เจนละบก) และทางด้านนครธม นครวัด กำปงจาม กำปงฉนังมาตามลำน้ำ เพื่อติดต่ออาณาจักรพิมาย จากการเดินทางรอนแรมมาถึงที่ตั้งบริเวณอำเภอท่าตูมในปัจจุบัน คณะเดินทางได้มาตั้งค่ายพักแรม ระหว่างที่บริเวณริมฝั่ง ที่มีต้นมะม่วงใหญ่ จึงได้ตั้งค่ายพักแรมและสร้างเป็นที่พักชั่วคราว และเรียกที่พักแรมนี้ว่า " กำปงสวาย" (ท่ามะม่วง) ชุมชนกำปงสวาย ได้ดำรงอยู่เรื่อยมาแม้ว่าเมื่ออาณาจักรเจนละและขอมโบราณ จะเสื่อมอำนาจลง จนเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่ ๒,๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการรบพุ่งกัน ระหว่างไทยกับกัมพูชาอีก ไทยได้อพยพชาวกัมพูชาบางส่วนเข้ามาในประเทศไทย ชาวกัมพูชาที่มีเชื้อสายเดิม ก็ได้อพยพมาอยู่ในชุมชนกำปงสวายนี้ ได้เปลี่ยนมาเป็น "พงสวาย" ในปัจจุบัน (หมู่ที่ ๑๓ ตำบลท่าตูม) ประมาณปีพ.ศ.๒๓๓๐ อำเภอท่าตูมได้มีการอพยพมาบริเวณปากน้ำมูลและชี มาบรรจบกันโดยชาวกูย (ส่วย) ซึ่งอพยพมาจากแคว้นพนมดงรักเป็นพวกที่รักสงบ รักธรรมชาติ มีความชำนาญในการเลี้ยงช้างและการเกษตร เห็นว่ายบริเวณดังกล่าวมีต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นอาหารของช้างมาก มีทำเลเลี้ยงช้างเหมาะสม จึงได้อพยพมาอาศัยอยู่บริเวณนั้น และเรียกบริเวณนั้นว่า "กระโพ" ( ตำบลกระโพ ในปัจจุบัน) ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ อำเภอท่าตูมได้ยกขึ้นเป็นอำเภอสุรพิน และขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองขุขันธ์ ปีพ.ศ.๒๔๕๒ เห็นว่าการให้อำเภอสุรพินขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองขุขันธ์นั้น มีระยะทางไกลมาก สร้างความลำบากให้แก่ข้าราชการและราษฎรไปติดต่อราชการ จึงได้พิจารณาให้อำเภอสุรพินมาขึ้นต่อเจ้าเมืองสุรินทร์ และเปลี่ยนเป็นอำเภออุดรสุรินทร์ ในปีพ.ศ. ๒๔๕๔ ครั้งแรกให้ขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองสุรินทร์ มีหลวงแพ่งเป็นนายอำเภอคนแรก ต่อมาปี ๒๔๕๖ ได้มีการตั้งอำเภออุดรสุรินทร์ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล บ้านกำปงสวาย แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ ขุนสุรสิทธิ์ สาราการ (พิน จรัณยานนท์) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอคนแรก เมื่อเทศาภิบาลได้ตรวจงานอำเภอและชมทิวทัศน์ในแม่น้ำที่แพ หน้าที่ว่าการได้พลาดตกลงน้ำเสียงดังตูม ชาวบ้านจึงเรียกท่าแห่งนั้นว่า "ท่าตูม" และเนื่องจากท่าแห่งนั้นเป็นที่ตั้งอำเภอด้วย จึงเรียกที่ว่าการอำเภอท่าตูมมาจนติดปาก ต่อมาสมัยสงครามเอเชียบูรพา (๒๔๙๘) ทางราชการมีคำสั่งให้อำเภอจัดทำสนามบินฉุกเฉิน อำเภอได้แผ้วถางที่สาธารณะ หมู่ที่ ๗ ตำบลท่าตูมเป็นสนามบิน หลังจากสิ้นสงครามทางคณะกรรมการอำเภอเห็นว่า ที่ว่าการอำเภอดั้งเดิมอยู่กลางชุมชนมีความแออัดคับแคบ ขยายส่วนราชการต่างๆไม่ได้ จึงได้ย้ายมาตั้งที่สนามบิน (บริเวณอำเภอปัจจุบัน) และเนื่องจากการเรียกกันจนติดปากว่าอำเภอท่าตูม จึงได้เปลี่ยนชื่อ จากอำเภออุดรสุรินทร์ มาเป็น อำเภอท่าตูม


ที่ตั้ง
อำเภอท่าตูม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดสุรินทร์ ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ๕๒ กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๑๔ และห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ประมาณ ๕๐๖ กิโลเมตร


พื้นที่
มีพื้นที่ ๗๑๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๔๖,๒๕๐ ไร่


อาณาเขต ติดต่อ

ทิศเหนือ         ติดต่อ  อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศใต้            ติดต่อ  อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร ์
ทิศตะวันออก   ติดต่อ  อำเภอรัตนบุรี และอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร ์
ทิศตะวันตก     ติดต่อ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย ์


ลักษณะภูมิประเทศ

มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม โดยที่ราบสูง ได้แก่ บริเวณทางทิศใต้ของอำเภอ (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูล) เป็นที่ราบสูงจากฝั่งของแม่น้ำมูลจนถึงเขาพนมดิน สภาพดินส่วนใหญ่ เป็นดินร่วนปนทราย ไม่อุ้มน้ำ ทิศเหนือฝั่งขวาแม่น้ำมูลจะเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง (Eiood Pain)  และที่ราบทุ่งกุลา ซึ่งเป็นที่ราบเรียบในพื้นที่ ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลทุ่งกุลา ตำบลพรมเทพ และตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม มีแม่น้ำและลำน้ำที่สำคัญไหลผ่าน ได้แก่
              ๑. แม่น้ำมูล ไหลผ่านอำเภอท่าตูม จากทิศตะวันตก ไปทิศตะวันออก
              ๒.แม่น้ำชี ไหลผ่านอำเภอท่าตูมจากทิศตะวันตกไปบรรจบแม่น้ำมูลที่ตำบลกระโพ
             ๓. ลำพลับพลา ไหลผ่านทางทิศเหนือของอำเภอในเขตตำบลทุ่งกุลา ไปทางทิศตะวันออก
ไปบรรจบแม่น้ำมูลที่ตำบลโพนครก พื้นที่และการใช้ประโยชน์ อำเภอท่าตูม พื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้แก่ การทำนา ทำไร่ การเลี้ยงสัตว์


การปกครอง

         แบ่งการปกครองเป็น ๑๐ ตำบล ๑๖๓ หมู่บ้าน