ผ้า และลายผ้า สุรินทร์


ซัมป๊วดโซด
ผ้านุ่งลายสมอ (ซัมป๊วดสมอ) มีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ ประกอบด้วยสีดำเหลืองทอง และสีเขียวขี้ม้า ส่วนมากคนสูงอายุจะนิยมนุ่ง และใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะสีย้อมมีความคงทนต่อการซักได้ดี ผ้านุ่งลายนี้ จะมีการทอโดยด้ายมัดหมี่จะทอเส้นยืนและเส้นพุ่ง

ผ้านุ่งลายสาคู (ซัมป๊วดสะคู)
เป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นตารางสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ ๑/๒X ๑/๒ นิ้ว ภายในกรอบตารางจะมีสี่เหลี่ยมเล็กๆ เรียงกัน จะมีหลายสี เช่น สีเขียว สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลืองทอง สีขาว การทอจะใช้ไหมสีและจำนวนเส้นเท่ากัน ออกแบบให้มีเส้นยืนกับเส้นพุ่ง
ผ้าโฮลเปราะ
เป็นผ้าโฮลสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญ เช่น งานบวช เป็นต้น ลักษณะผ้าโฮลเปราะจะทอเป็นลายมัดหมี่ โฮลของผู้หญิง แต่ไม่มีริ้วสลับสิ้นเปลืองไหมมากกว่า นิยมยืนพื้นสีเขียว การทอ ๑ ผืน จะต้องยาวประมาณ ๔ หลา หรือ ๓.๕ เมตร เพื่อใช้นุ่งเป็นผ้าโจงกระเบนได้
สไบผู้หญิง (โชนดเลอก)
ลักษณะเป็นผ้าสีพื้น นิยมสีขาว หรือเหลืองใช้ห่มเป็นสไบทิ้งชายหน้า-หลัง จะนิยมทอยก ดอก โดยยกเข่าหรือตะกอ จะเป็น ๓ ตะกอ ๔ ตะกอ หรือ๖ ตะกอก็ได้ ลักษณะคล้ายผ้าเหยียบของกลุ่มวัฒนธรรมไทย- ลาว และคล้ายผ้าแก๊ปของกลุ่มวัฒนธรรมไทยกูย
โสร่งเปราะ (โสร่งผู้ชาย)
มีลักษณะเป็นตารางใหญ่ สีแดงสลับสีเขียวมีริ้วตัดที่ตรงกลางตลอดผืน การทอโสร่งจะนำไหมสองสีมาควบกันแล้วนำไปทอ ผ้ากะนีว มีลักษณะเป็นสีพื้นไม่มีลวดลาย การทอจะใช้ไหมสองสีมาควบกัน แล้วนำไปทอเป็นผืน การนำไหมสองสีมาควบกันเรียกว่า " กะนีว" หรือ "ผ้าหางกระรอก" ลักษณะของผ้ากะนีวนี้ผิวสัมผัสจะมีความมันระยิบระยับ
ผ้านุ่งลายโฮล (ซัมป๊วดโฮล)
เป็นผ้าทุ่งที่มีลักษณะเป็นลายริ้วสลับกับลายมัดหมี่ เป็นผ้าพื้นเมืองของชาวสุรินทร์ การมัดลายเป็นไปตามรูปประกอบการย้อม อาจจะแก้ลายบางช่องที่ย้อมสีแรกออกแล้วนำไปย้อมอีกครั้ง จะได้สีใหม่ จะเห็นลายในผ้าโฮลมีบางตอนสี จะแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันตลอดผืน
 

โสร่งสะไรย์ (โสร่งผู้หญิง)
เป็นผ้านุ่งที่มีลักษณะเป็นสีพื้นที่มีเส้นไหมควบ หรือเรียกว่า กะนีว และมีการทอเป็นตารางเล็กๆ ในพื้นที่ทั้งหมด

ผ้านุ่งลายอันลูยซีม (จ๊ะปันชวร)
มีลักษณะเป็นลายตามขวาง สีที่นิยมจะขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ทอ เช่น สีเหลืองทอง สีเขียว สีแดง และสีขาว บางผืนอาจใช้สีม่วงแทนสีขาว ในการทอผืนหนึ่งๆใช้เพียง ๔สีเท่านั้น ทอสลับกันไป ผ้านุ่งลายนี้ไหมเส้นพุ่งจะใช้ควบกันสองสี ผ้านุ่งลายอันปรม เป็นผ้าทีมีลวดลายเป็นตารางสี่เหลี่ยม มีการมัดย้อมไหมให้เป็นจุดปะสีขาวเด่นขึ้น จากพื้นสีแดง ในตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ ผ้าขาวม้า มีลักษณะเป็นลายทางยาว และมีเชิง แต่เดิมมีการทอยกดอก ต่อมามีการทอยกขิดลวดลายต่างๆ ใช้สำหรับผู้ชายคาดเอวและพาดไหล่
 

ผ้ามัดหมี่
เป็นการทอผ้าที่มีลวดลายเกิดจากการมัดย้อมไหมทั้งเส้นทอ และเส้นพุ่งแล้วทอออกมาเป็นผืน ลวดลายที่ยังคงไว้กันอยู่ ได้แก่ ลายนก ลายช้าง ลายพญานาค ลายต้นสน เป็นต้น ปะโปร์ มีลักษณะการทอผ้าเล็กๆ คล้ายผ้ามัดหมี่ หรือผ้าขิด ของชาวไทย-ลาว นำมาต่อกับเชิงผ้านุ่ง จะเป็นมัดหมี่ หรือผ้าโฮล หรือสีดำก็ได้ ผ้าสีพื้น เป็นการทอด้วยไหมน้อยหรือไหมแท้ ด้วยไหมสีเดียวกันทั้งผืน นิยมทอสีขาว, เหลือง,เขียว ปัจจุบันนิยมทอด้วยสีสดๆ